วันอังคารที่ 19 มกราคม พ.ศ. 2553

ดินด่านเกวียน



หากกล่าวถึงเครื่องปั้นดินเผา หลายคนก็คงนึกถึงชุมชนบ้านด่านเกวียน จังหวัดนครราชสีมา เพราะที่แห่งนี้เป็นแหล่งผลิตและจำหน่ายสินค้าเครื่องปั้นดินเผาหลากหลายรูปแบบ ส่วนเหตุผลที่ด่านเกวียนเป็นแหล่งผลิตเครื่องปั้นดินเผาชั้นดีที่มีความสวยงาม คงทน และมีเอกลักษณ์ไม่เหมือนใคร และยังสามารถเรียกได้ว่าเป็นงานศิลปกรรมพื้นบ้านที่ได้ทำสืบทอดกันมายาวนานของคนในชุมชน ก็เพราะมาจากจุดแข็งในเรื่องของ “ ดิน ”เนื่องจากดินในลำน้ำมูลที่ใช้ทำเครื่องปั้นดินเผาด่านเกวียนจะมีเอกลักษณ์เฉพาะตัว มีแร่สนิมเหล็กที่ไม่เหมือนดินจากแหล่งอื่น คือเป็นดินเหนียวที่มีเนื้อเป็นสีแดงเข้มจนเกือบดำ และเมื่อเผาจนดำแล้วจะมีความแข็งกว่าดินในทุกพื้นที่ และขึ้นรูปได้ดี สามารถออกแบบและปั้นได้ตามความต้องการ ซึ่งจากจุดแข็งนี้เอง ที่ทำให้ชาวชุมชนด่านเกวียนสามารถสร้างสรรค์เครื่องปั้นดินเผาจากการผลิตเพื่อใช้งานเอง สู่การสร้างอาชีพที่ยั่งยืนของคนในชุมชน และในปัจจุบันได้พัฒนาดินเผาพื้นบ้านสู่ตลาดส่งออกที่สร้างรายได้ให้กับประเทศไทยอีกด้วย และจากการที่ดินเผาด่านเกวียนสามารถสร้างชื่อเสียงให้กับตัวของผลิตภัณฑ์เองแล้ว ยังสามารถทำให้บ้านด่านเกวียนกลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่น่าสนใจอีกแห่งหนึ่งของประเทศไทยอีกด้วยค่ะและเมื่อเราเดินทางมาถึง ต.ด่านเกวียน อ.โชคชัย จ.นครราชสีมา ก็จะเห็นร้านค้าเครื่องปั้นดินเผาเรียงรายอยู่สองฟากฝั่งถนน ถ้าไม่ได้แวะลงไปชื่นชมหรือเลือกซื้อสินค้าเหล่านี้มาไว้ประดับตกแต่งบ้านและสวนก็คงจะเสียดายแย่ เพราะว่าได้มีโอกาสมาเยือนถึงถิ่นเครื่องปั้นดินเผากันแล้ว …. ว่าแล้วก็ขอลงไปเลือกแจกันงามๆ กระถางสวยๆ ต่อด้วยของฝากจากดินเผาชิ้นเล็กๆ ก่อนนะคะขณะที่เรากำลังเลือกซื้อเครื่องปั้นดินเผาอยู่นั้น ก็จะเห็นนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติและคนไทยแวะเวียนมาสั่งซื้อสินค้า สั่งกันทีหนึ่งเป็นสิบชิ้นร้อยชิ้นขึ้นไป ซึ่งสิ่งเหล่านี้เป็นการย้ำให้เราเห็นว่า เครื่องปั้นดินเผาด่านเกวียนนั้น เป็นที่นิยมของผู้คนมากมาย และยิ่งในปัจจุบันคนไทยเราหันมาสนใจการตกแต่งบ้านและจัดสวนกันมากขึ้น ทำให้สินค้าพื้นบ้านอย่างเครื่องปั้นดินเผาเป็นที่ต้องตาต้องใจนักตกแต่งบ้าน ยิ่งถ้าเครื่องปั้นดินเผาสามารถพัฒนารูปแบบที่หลากหลายและมีสวยงามทั้งในแง่ของรูปทรง สีสัน หรือการเลียนแบบให้คล้ายคลึงของเก่า เพื่อให้เข้ากับสไตล์การตกแต่งบ้านและสวนของแต่ละบุคคลมากยิ่งขึ้น อย่างที่ชุมชนบ้านด่านเกวียนได้ทำอยู่นั้น ก็จะยิ่งสร้างความน่าสนใจให้กับตัวของผลิตภัณฑ์เพิ่มขึ้นไปอีกค่ะส่วนเรื่องราคาของสินค้าก็ไม่แพงอย่างที่คิดด้วยนะคะ มีตั้งแต่ราคาหลักสิบจนถึงจนหมื่น อ๊อ!! หลักแสนก็มีอยู่บ้างค่ะ ขึ้นอยู่กับขนาด ลวดลาย การใช้สี และวัตถุดิบในการตกแต่ง ครั้งนี้เราซื้อกระถางใบโตสีสันสวยงามมาในราคา 240 บาทเท่านั้นส่วนกระถางปลูกต้นไม้ใบเล็กก็อยู่ที่ราคา 30 – 50 บาท เป็นราคาที่พอจะเอื้อมถึง แบบนี้เรียกว่า ” สุดคุ้มค่ะ ” มาถึงแหล่งเครื่องปั้นดินเผาด่านเกวียนทั้งที ถ้าไม่ซื้ออะไรติดไม้ติดมือกลับไปประดับตกแต่งบ้านหละก็เสียดายแย่เลยค่ะ และในปัจจุบันนี้แหล่งชุมชนบ้านด่านเกวียนมีร้านค้าจำหน่ายสินค้าเครื่องปั้นดินเผามากมายให้นักท่องเที่ยวได้เลือกซื้อกันมากขึ้น หากเดินจนเมื่อยก็มีร้านค้าขายเครื่องดื่มอย่างกาแฟและน้ำผลไม้ไว้คอยบริการด้วยค่ะ
ถ้าหากใครไปเที่ยวที่จังหวัดนครราชสีมา ก็อย่าลืมแวะเวียนมาเยี่ยมชมสินค้าดินเผาพื้นบ้าน ที่สามารถเดินทางสู่ตลาดส่งออกได้ อย่างเครื่องปั้นดินเผาด่านเกวียน ที่ ต.ด่านเกวียน อ.โชคชัย จ.นครราชสีมา แล้วเราจะได้เห็นกันค่ะว่าผลิตภัณฑ์พื้นบ้านเหล่านี้มีคุณค่าและความสวยงามอย่างไร และเหตุใดชาวต่างชาติจึงนิยมชมชอบกันมาก เราเป็นคนไทยมีของดีอยู่ในเมืองไทยต้องช่วยกันสนับสนุนค่ะ
***************************************************************************************

อุทยานประวัติศาสตร์พิมาย


อุทยานประวัติศาสตร์พิมาย

อุทยานประวัติศาสตร์พิมาย เป็นหนึ่งในอุทยานประวัติศาสตร์ของประเทศไทย ที่ตั้งอยู่ในตัวอำเภอพิมาย จังหวัดนครราชสีมา ประกอบด้วยโบราณสถานสมัยอาณาจักรขอมที่ใหญ่โตและงดงาม


ประวัติ


เมืองพิมายเป็นเมืองที่สร้างตามแบบแผนของศิลปะขอม มีลักษณะเป็นเวียงสี่เหลี่ยม ชื่อ พิมาย น่าจะมาจากคำว่า วิมาย หรือ วิมายปุระ ที่ปรากฏในจารึกภาษาขอมบนแผ่นหินตรงกรอบประตูระเบียงคดด้านหน้าของปราสาท จากหลักฐานศิลาจารึกและศิลปะสร้างบ่งบอกว่า ปราสาทหินพิมายคงเริ่มสร้างขึ้นสมัยพระเจ้าสุริยวรมันที่ ๑ ราวพุทธศตวรรษที่ ๑๖ ในฐานะเทวสถานของศาสนาพราหมณ์ รูปแบบของศิลปะเป็นแบบบาปวนผสมผสานกับศิลปะแบบนครวัด ซึ่งหมายถึงปราสาทนี้ได้ถูกดัดแปลงมาเป็นสถานที่ทางศาสนาพุทธในสมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ ๗
เมื่ออิทธิพลของวัฒนธรรมขอมเริ่มเสื่อมลงหลังรัชสมัยของพระเจ้าชัยวรมันที่ ๗ และมีการสถาปนาอาณาจักรสุโขทัยในเวลาต่อมา เมืองพิมายคงจะหมดความสำคัญลง และหายไปในที่สุด เนื่องไม่ปรากฏหลักฐานเกี่ยวกับเมืองพิมายเลยในสมัยสุโขทัย
ในปี พ.ศ. ๒๔๗๙ กรมศิลปากรได้ประกาศขึ้นทะเบียนปราสาทหินพิมายเป็นโบราณสถาน และได้จัดตั้งเป็น อุทยานประวัติศาสตร์พิมาย ในวันที่ ๑๒ เมษายน พ.ศ. ๒๕๓๒ โดยได้ดำเนินการปรับปรุงจัดตั้งถึง ๑๓ ปี ร่วมมือกันระหว่างกรมศิลปากร และประเทศฝรั่งเศส ตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๕๑๙ – ๒๕๓๒ ซึ่งสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ได้เสด็จฯ พระราชดำเนิน เป็นองค์ประธานในพิธีเปิดอุทยาน


โบราณสถาน


ตัวอุทยานตั้งอยู่ฟากทิศตะวันออกของแม่น้ำมูล บนพื้นที่ ๑๑๕ ไร่ วางแผนเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า กว้าง ๕๖๕ เมตร ยาว ๑,๐๓๐ เมตร ลักษณะพิเศษของปราสาทหินพิมาย คือ ปราสาทหินแห่งนี้สร้างหันหน้าไปทางทิศใต้ ต่างจากปราสาทหินอื่นๆที่มักหันไปทางทิศตะวันออก สันนิษฐานว่าเพื่อให้หันรับกับเส้นทางตัดมาจากเมืองยโศธรปุระ เมืองหลวงในสมัยนั้นของขอม ซึ่งเข้ามาสู้เมืองพิมายทางทิศใต้


สิ่งก่อสร้างที่น่าสนใจภายในอุทยานประวัติศาสตร์พิมาย



พลับพลา
ตั้งอยู่บริเวณด้านหน้ากำแพงชั้นนอก ด้านซ้ายมือของทางเดินเข้าสู่ตัวปราสาท เป็นอาคารรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า เดิมเรียกกันว่า "คลังเงิน" จากตำแหน่งที่ตั้งสันนิษฐานว่าคงเป็นที่พักเตรียมพระองค์สำหรับกษัตริย์ หรือเจ้านายชั้นสูงที่เสด็จมาประกอบพิธีกรรมทางศาสนา รวมทั้งเป็นสถานที่พักจัดขบวนสิ่งของถวายต่างๆ จากการขุดแต่งบริเวณนี้เมื่อปี พ.ศ. 2511 ได้พบโบราณวัตถุจำนวนมาก มีทั้งรูปเคารพ เครื่องประดับ และเหรียญสำริด เป็นเหตุให้เรียกกันว่า "คลังเงิน"



สะพานนาคราช
ตั้งอยู่บริเวณด้านหน้าทางเข้าโคปุระด้านทิศใต้สร้างด้วยหินทราย มีผังเป็นรูปกากบาท กว้าง 4 ม. ยาว 31.70 ม. ยกพื้นสูง ราวสะพานทำเป็นตัวนาค ที่ปลายราวสะพานทำเป็นรูปนาคราชชูคอแผ่พังพานเป็นรูปนาค 7 เศียร สะพานนี้ถือเป็นจุดเริ่มต้นในการเดินทางเข้าสู่ศาสนสถานอันศักดิ์สิทธิ์ตามคติความเชื่อเรื่องจักรวาล เชื่อว่าเป็นเส้นทางเชื่อมระหว่างโลกมนุษย์กับโลกสวรรค์ คตินีถือสืบกันมาในศาสนาฮินดูและพุทธศาสนานิกายมหายาน
ซุ้มประตูและกำแพงแก้ว
ซุ้มประตูหรือโคปุระ ตั้งอยู่กึ่งกลางของแนวกำแพงแก้ว อยุ่ในแนวตรงกันหมดทั้ง 4 ด้าน คือ ทิศเหนือ-ใต้ อยู่ตรงกึ่งกลางของกำแพง ทิศตะวันออก-ตะวันตกค่อนไปทางเหนือเล็กน้อย ผังโดยรอบของซุ้มประตูมีลักษณะเป็นรูปกากบาท จากกำแพงแก้วเข้ามาด้านในเชื่อกันว่าเป็นดินแดนของโลกสวรรค์ อันเป็นที่อยู่ของเทพเจ้า



ชาลาทางเดิน
ก่อสร้างด้วยหินทราย เชื่อมต่อระหว่างซุ้มประตูด้านทิศใต้ของระเบียงคดที่ล้อมรอบปราสาทประธาน โดยทำทางเดินยกพื้นสูงประมาณ 1 เมตร แบ่งเป็น 3 ช่องทางเดิน ผังทำเป็นรูปกากบาท จากการบูรณะพบเศษกระเบื้องมุงหลังคาและบราลีดินเผาจำนวนมาก สันนิษฐานว่าเดิมคงเป็นระเบียงโปร่ง หลังคามุงกระเบื้อง รองรับด้วยเสาไม้


ซุ้มประตูและระเบียงคด
เป็นอาคารก่อด้วยหินทรายยกพื้นสูง อยู่ล้อมรอบปราสาทประธาน ระเบียงคดมีลักษณะคล้ายกำแพงแก้วทั้ง 4 ด้าน โดยมีตำแหน่งที่ตั้งตรงกับแนวของประตูเมือง และประตูทางเข้าปราสาทประธาน ปรากฏหลักฐานสำคัญที่ซุ้มประตูด้านทิศใต้ บริเวณกรอบประตูพบจารึกภาษาเขมร อักษรขอมโบราณ ระบุศักราชตรงกับ พ.ศ. 1651-1655 กล่าวถึงการสร้างรูปเคารพ การสร้างเมือง ตลอดจนปรากฏพระนามของขุนนางชั้นสูง และพระนางมหากษัตริย์คือ พระเจ้าธรณินทรวรมันที่1
ปราสาทประธาน
เป็นส่วนสำคัญที่สุดของปราสาทหินพิมาย เป็นปราสาทองค์ใหญ่ สร้างขึ้นราวพุทธศรรตวรรษที่ 16-17 ก่อสร้างด้วยศิลาทรายสีขาวหันหน้าไปทางทิศใต้ ซึ่งแตกต่างจากศาสนสถานแบบขอมในที่อื่นๆ ซึ่งมักจะหันหน้าไปทางทิศตะวันออก ปราสาทประธานประกอบด้วยส่วนสำคัญ 2 ส่วนคือ มณฑป และ เรือนธาตุ มีการจำหลักลวดลายประดับตามส่วนต่างๆ เช่น หน้าบัน ทับหลัง มักจำหลักเป็นภาพเล่าเรื่องรามเกียรติ์และเรื่องราวทางพุทธศาสนา ยกเว้นทางด้านทิศใต้ จำหลักเป็นภาพศิวนาฏราช ภายในเรือนธาตุเป็นส่วนสำคัญที่สุดเรียกว่า ห้องครรภคฤหะ เป็นที่ประดิษฐานรูปเคารพสำคัญ พื้นห้องตรงมุมด้านทิศตะวันออกเฉียงเหนือมีร่องน้ำมนต์ต่อลอดผ่านพื้นห้องออกไปทางด้านนอก เรียกว่า ท่อโสมสูตร
ปรางค์หินแดง
สร้างขึ้นราวปลายพุทธศรรตวรรษที่ 17 ตั้งอยู่ทางด้านขวาของปรางค์ประธาน มีมุขยื่นออกไปทั้ง 4 ทิศ เหนือกรอบประตูทางเข้าด้านทิศเหนือ มีทับหลังหินทรายจำหลักภาพเล่าเรื่องมหากาพย์มหาภารตะ ตอนกรรณะล่าหมูป่า ส่วนกรอบประตูด้านอื่นคงเหลือร่องรอยเฉพาะเสาประดับกรอบประตูศิลปะแบบเขมรประดับอยู่
หอพราหมณ์
เป็นอาคารก่อด้วยหินทรายและศิลาแลง ตั้งอยู่บนฐานเดียวกันกับบปรางค์หินแดง ในปี พ.ศ. 2493 ได้ค้นพบศิวลึงค์ สลักด้วยหินทรายจำนวน 7 ชิ้นอยู่ภายในหอพราหมณ์ เชื่อกันว่าอาคารหลังนี้คงเป็นสถานที่ประกอบพิธีทางศาสนาพราหมณ์ แต่จากรูปแบบและตำแหน่งที่ตั้งเดิมคงเป็นที่ตั้งของบรรณาลัยมากกว่า
ปรางค์พรหมทัต
ลักษณะของปรางค์องค์นี้ สร้างด้วยศิลาแลงตั้งอยู่ด้านหน้าของปราสาทประธานทางด้านทิศตะวันออกเฉียงใต้ ฐานเป็นรูปสี่เหลี่ยมจตุรัส ประตูทำเป็นมุขยื่นออกไปทั้ง 4 ทิศ ภายในองค์ปรางค์พบประติมากรรมสำคัญ 2 ชิ้น คือ ประติมากรรมรูปบุคคลขนาดใหญ่อยู่ในท่านั่งขัดสมาธิ สลักด้วยหินทราย สันนิษฐานว่าเป็นรูปจำลองของพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 ชาวบ้านเรียกว่า ท้าวพรหมทัต ส่วนอีกรูปเป็นรูปสตรีนั่งคุกเข่าสลักด้วยหินทราย ส่วนศีรษะและแขนหักหายไป เชื่อกันว่าเป็นรูปของพระนางชัยราขเทวีมเหสี ชาวบ้านเรียกตามนิยายพื้นบ้านว่า นางอรพิม ปัจจุบันประติมากรรมทั้ง 2 ชิ้นนี้จัดแสดงอยู่ในพิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติพิมาย
บรรณาลัย
ตั้งอยู่บริเวณลานชั้นนอก ระหว่างกำแพงแก้วและซุ้มประตูระเบียงคด ด้านทิศตะวันตกเป็นอาคาร 2 หลังขนาดเดียวกัน ผังอาคารเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้ายกพื้นสูง ก่อด้วยหินทรายกั้นเป็นห้องยาวตลอดแนว พบร่องรอยหลุมเสารูปสี่เหลี่ยมจตุรัส เดิมคงเป็นหลังคาเครื่องไม้มุงกระเบื้อง เชื่อกันว่าบรรณาลัยคือสถานที่เก็บรักษาคัมภีร์อันศักดิ์สิทธิ์ทางศาสนา
อ้างอิง
1. เอกสารประกอบการเข้าชมอุทยานประวัติศาสตร์ พิมาย, กรมศิลปากร
แหล่งข้อมูลอื่น
กรมศิลปากร
หอมรดกไทย
พิมายอารยธรรมขอมโบราณ
ชุมชนพิมาย
ข้อมูลและภาพถ่ายอุทยานประวัติศาสตร์พิมาย
เทศบาลตำบลพิมาย


ท้าวสุรนารี (ย่าโม)


ประวัติท้าวสุรนารี


ท้าวสุรนารี มีนามเดิมว่า "โม" (แปลว่า ใหญ่) หรือ "โม้" (ภาษาไทยสำเนียงโคราช) เป็นชาวเมืองนครราชสีมาโดยกำเนิด เกิดเมื่อปีเถาะ พ.ศ. 2314 ในแผ่นดิน พระเจ้าตากสินมหาราช สมัยกรุงธนบุรี มีนิวาสถานอยู่ ณ บ้านตรงกันข้ามกับวัดพระนารายณ์มหาราช (วัดกลางนคร) ทางทิศใต้ของเมืองนครราชสีมา
นางสาวโม เป็นธิดาของ นายกิ่ม และ นางบุญมา (ในสมัยนั้นยังไม่มีนามสกุล) มีพี่สาวหนึ่งคนชื่อ แป้น ไม่มีสามี จึงอยู่ด้วยกันจนวายชนม์ มีน้องชายหนึ่งคน ไม่ปรากฏชื่อ (ภายหลัง ได้เป็น เจ้าเมืองพนมซร๊อก ต่อมามีการอพยพชาวเมืองพนมซร๊อก มาอยู่ ริมคูเมืองนครราชสีมาด้านใต้ จึงเอาชื่อเมือง พนมซร๊อก มาตั้งชื่อ บ้านพนมศรก ต่อมาเรียกเพี้ยนเป็น บ้านสก อยู่หลังสถานีรถไฟชุมทางถนนจิระ จนทุกวันนี้) เมื่อปี พ.ศ. 2339 นางสาวโม เมื่ออายุได้ 25 ปี ได้แต่งงานสมรสกับนายทองคำ พนักงานกรมการเมืองนครราชสีมา ต่อมานายทองคำ ได้เลื่อนบรรดาศักดิ์เป็น "พระภักดีสุริยเดช" ตำแหน่งรองปลัดเมืองนครราชสีมา นางโม จึงได้เป็น คุณนายโม และต่อมา "พระภักดีสุริยเดช" ได้เลื่อนเป็น "พระยาสุริยเดช" ตำแหน่งปลัดเมืองนครราชสีมา คุณนายโมจึงได้เป็น คุณหญิงโม ชาวเมืองนครราชสีมาเรียกท่านทั้งสองเป็นสามัญว่า "คุณหญิงโม" และ "พระยาปลัดทองคำ" ท่านเป็นหมันไม่มีทายาทสืบสายโลหิต ชาวเมืองนครราชสีมาทั้งหลายจึงพากันเรียกแทนตัวคุณหญิงโมว่า แม่ มีผู้มาฝากตัวเป็นลูก-หลานกับคุณหญิงโมอยู่มาก ซึ่งเป็นกำลัง และอำนาจส่งเสริมคุณหญิงโมให้ทำการ ใดๆ ได้สำเร็จเสมอ หนึ่งในลูกหลานคนสำคัญ ที่มีส่วนร่วมกับคุณหญิงโม เข้ากอบกู้เมืองนครราชสีมาจากกองทัพเจ้าอนุวงศ์ เวียงจันทน์ ณ ทุ่งสัมฤทธิ์ คือ นางสาวบุญเหลือ[2]
ท้าวสุรนารี เป็นคนมีสติปัญญาหลักแหลม เล่นหมากรุกเก่ง มีความชำนาญในการขี่ช้าง ขี่ม้า มีม้าตัวโปรดสีดำ และมักจะพาลูกหลาน ไปทำบุญที่วัดสระแก้วเป็นประจำเสมอท้าวสุรนารี ถึงแก่อสัญกรรมเมื่อเดือน เมษายน พ.ศ. 2395 ( เดือน 5 ปีชวด จัตวาศก จศ. 1214 ) สิริรวมอายุได้ 81 ปี

ตราประจำจังหวัดนครราชสีมา แสดงภาพอนุสาวรีย์ท้าวสุรนารีและประตูชุมพล
วีรกรรมของท้าวสุรนารี และบำเหน็จความชอบ

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและ สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เสด็จวางพวงมาลา ณ.อนุสาวรีย์ท้าวสุรนารี วันที่ 2 พ.ย.2498
วีรกรรมของคุณหญิงโมนั้นเป็นที่คนไทยรุ่นหลังทราบดีว่า เมื่อพุทธศักราช 2369 เจ้าอนุวงศ์แห่งเวียงจันทน์ เป็นกบฏต่อกรุงเทพมหานคร ยกกองทัพเข้ามายึดเมืองนครราชสีมาได้ แล้วกวาดต้อนครอบครัวชาวนครราชสีมาไป
เหตุการณ์เกิดขึ้นเมื่อ คุณหญิงโม และนางสาวบุญเหลือ ได้รวบรวมครอบครัวชาย หญิงชาวนครราชสีมาที่ถูกกวาดต้อนไปเป็นเชลย เข้าต่อสู้ฆ่าฟันทหารลาวล้มตายเป็นอันมาก ณ ทุ่งสัมฤทธิ์ แขวงเมืองนครราชสีมา เมื่อวันที่ 4 มีนาคม พุทธศักราช 2369 ช่วยให้ฝ่ายไทยสามารถกอบกู้เมืองนครราชสีมากลับคืนมาได้ในที่สุด
เมื่อความทราบไปถึง พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ สถาปนาคุณหญิงโม ขึ้นเป็น ท้าวสุรนารี เมื่อ วันที่ 30 ตุลาคม พ.ศ. 2370 เมื่อคุณหญิงโมมีอายุได้ 57 ปี พร้อมกับพระราชทานพระราชทานเครื่องยศ มีต่อนี้

เครื่องยศพระราชทานแก่ท้าวสุรนารี
ถาดทองคำใส่เครื่องเชี่ยนหมาก 1 ใบ
จอกหมากทองคำ 1 คู่
ตลับทองคำ 3 ใบเถา
เต้าปูนทองคำ 1 ใบ
คนโท และขันน้ำทองคำอย่างละ 1 ใบ
อีกหนึ่งเหตุการณ์ที่สมควรจะบันทึกไว้ในปี พ.ศ. 2524 คือเมื่อวันที่ 5 เมษายน เวลา 14.00 น. พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ได้เสด็จพระราชดำเนินพร้อมด้วยสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี และสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี ทรงวางพวงมาลา ณ อนุสาวรีย์ท้าวสุรนารี ท่ามกลางพสกนิกร ที่เข้าเฝ้าถวายความจงรักภักดีอย่างเนื่องแน่น ในโอกาสนี้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้พระราชทานบรมราโชวาทมีความตอนหนึ่งว่า

....ท้าวสุรนารี เป็นผู้ที่เสียสละเพื่อให้ประเทศชาติได้อยู่รอดปลอดภัยควรที่อนุชนรุ่นหลัง จะได้ระลึกถึงคุณงามความดีของท่านบ้านเมืองทุกวันนี้เป็นสิ่งที่ต้องหวงแหน การหวงแหน คือ ต้องสามัคคีรู้จักหน้าที่ ทุกฝ่ายต้องช่วยกัน ชาวนครราชสีมาได้แสดงพลังต้องการความเรียบร้อย ความสงบ เป็นปัจจัยสำคัญทำให้ชาติกลับปลอดภัยอีกครั้งหนึ่งแม้ว่าสถานการณ์รอบตัวเราและรอบโลก จะผันผวนและ ล่อแหลมมากแต่ถ้าทุกคนเข้มแข็ง สามัคคี กล้าหาญ และเอื้อเฟื้อต่อกันชาติก็จะมั่นคง....
อนุสาวรีย์ท้าวสุรนารี

อนุสาวรีย์ท้าวสุรนารีบนฐานอนุสาวรีย์เดิมปี พ.ศ. 2477
เมื่อท้าวสุรนารี ถึงแก่อสัญกรรม เมื่อปีพุทธศักราช 2395 อายุ 81 ปี เจ้าพระยามหิศราธิบดีผู้เป็นสวามี ได้ฌาปนกิจศพ และสร้างเจดีย์บรรจุอัฐิไว้ ณ วัดศาลาลอยซึ่งท้าวสุรนารีได้สร้างไว้

กู่อัฐิท้าวสุรนารีวัดพระนารายณ์มหาราช
เมื่อเวลาผ่านไปเจดีย์ชำรุดลง พลตรีเจ้าพระยาสิงหเสนี (สอาด สิงหเสนี) ครั้นเมื่อยังเป็น พระยาประสิทธิศัลการ ข้าหลวงเทศาภิบาล ผู้สำเร็จราชการเมืองนครราชสีมา องคมนตรี และรัฐมนตรี ได้บริจาคทรัพย์สร้างกู่ขนาดเล็ก บรรจุพระอัฐิท้าวสุรนารีขี้นใหม่ที่วัดกลาง (วัดพระนารายณ์มหาราช) สร้างเสร็จเมื่อวันที่ 7 มิถุนายน ร.ศ.118 (พ.ศ. 2442)
ต่อมากู่นั้นได้ทรุดโทรมลงมาอีก อีกทั้งยังอยู่ในที่แคบ ไม่สมเกียรติ พระยากำธรพายัพทิศ (ดิส อินทรโสฬส) ผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา นายพันเอกพระเริงรุกปัจจามิตร (ทอง รักสงบ) ผู้บังคับการมณฑลทหารบกที่ 5 พร้อมด้วยข้าราชการ และประชาชนชาวนครราชสีมา ได้พร้อมใจกันสร้างอนุสาวรีย์ท้าวสุรนารีด้วยสัมฤทธิ์ ซึ่งทางกรมศิลปากรได้มอบให้ ศาสตราจารย์ ศิลป์ พีระศรี เป็นผู้ออกแบบร่วมกับ พระเทวาภินิมมิตร (ฉาย เทียมศิลปไชย) ประติมากรเลื่องชื่อในสมัย จอมพล ป. พิบูลสงคราม

พิธีเปิดอนุสาวรีย์ท้าวสุรนารีบนฐานอนุสาวรีย์ใหม่ปี พ.ศ. 2510
ทั้งนี้ได้อัญเชิญอัฐิของท่านนำมาบรรจุไว้ที่ฐานรองรับ และประดิษฐานไว้ ณ ที่หน้าประตูชุมพล อนุสาวรีย์หล่อด้วยทองแดงรมดำ สูง 1.85 เมตร หนัก 325 กิโลกรัม ตั้งอยู่บนฐานไพที สี่เหลี่ยมย่อมุมไม้สิบสองซึ่งบรรจุอัฐิของท่าน แต่งกายด้วยเครื่องยศพระราชทาน ในท่ายืน มือขวากุมดาบ ปลายดาบจรดพื้น มือซ้ายท้าวสะเอว หันหน้าไปทางทิศตะวันตก ซึ่งเป็นทิศที่ตั้งของกรุงเทพมหานคร นับเป็นอนุสาวรีย์ของสามัญชนสตรี คนแรกของประเทศ เริ่มก่อสร้างในปี 2476 แล้วเสร็จ และ มีพิธีเปิดอนุสาวรีย์เมื่อวันที่ 15 มกราคม พ.ศ. 2477[4]
ในงานพิธีเปิดนี้ จึงได้มีการสร้างเหรียญไว้เป็นที่ระลึก โดยมี สมเด็จมหาวีรวงศ์ (ติสโส อ้วน) เป็นประธานฝ่ายสงฆ์ และพระคณาจารย์สายพระอาจารย์มั่น - พระอาจารย์เสาร์ ร่วมพิธีปลุกเสกที่ วัดสุทธจินดา ชาวเมืองนครราชสีมารัก และหวงแหนเหรียญรุ่นนี้กันมาก เพราะถือกันว่านี่คือ เหรียญแห่งชัยชนะ เพื่อศรีสง่าแห่งบ้านเมือง และเชิดชูเกียรติ ท้าวสุรนารี วีรสตรีไทยตลอดกาล และทางกรมศิลปากร ได้ขึ้นทะเบียนอนุสาวรีย์ท้าวสุรนารี เป็นโบราณสถานวัตถุแห่งชาติ เมื่อวันที่ 3 มกราคม พ.ศ. 2480[6]
ครั้นเมื่อปี พ.ศ. 2510 ฐานอนุสาวรีย์ชำรุด ข้าราชการ และประชาชนชาวนครราชสีมา โดยนายสวัสดิวงศ์ ปฏิทัศน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดในขณะนั้น เป็นประธาน ได้ร่วมใจกันสร้าง ฐานอนุสาวรีย์บรรจุอัฐิท้าวสุรนารี ขึ้นใหม่ ณ ที่เดิม เพื่อให้เป็นศรีสง่าแก่บ้านเมือง และเชิดชูเกียรติท้าวสุรนารี วีรสตรีไทยตลอดกาลนาน แล้วเสร็จ เมื่อวันที่ 29 พฤศจิกายน พ.ศ. 2510
เหรียญที่ระลึกในงานพิธีเปิดพ.ศ. 2477 (ด้านหน้า)

เหรียญที่ระลึกในงานพิธีเปิดพ.ศ. 2477 (ด้านหลัง)
ทางจังหวัดนครราชสีมา หน่วยงานราชการต่าง ๆ รวมทั้งประชาชนชาวนครราชสีมา ได้การจัด งานฉลองวันแห่งชัยชนะของท้าวสุรนารี (คุณหญิงโม) เป็นงานประจำปีของจังหวัด เพื่อเป็นการเคารพสักการะ เชิดชูเกียรติ ในวีรกรรมของท้าวสุรนารี และเหล่าบรรพบุรุษของชาวนครราชสีมา จัดขึ้นบริเวณหน้าศาลากลางจังหวัด กำหนดจัดระหว่างวันที่ 23 มีนาคม - 3 เมษายน ของทุกปี
ข้อเท็จจริง
ในหลักฐานร่วมสมัยอย่างจดหมายเหตุนครราชสีมาระบุบคำให้การขุนโอฐบันทึกในใบบอกว่า "เวลาเช้าตรู่ พระยาปลัด พระยายกกระบัตร กรมการต่างคนต่างยิงปืนคนละนัด พวกครัวก็เข้าฟันแทง ทั้งพระสงฆ์ เถร เณร ผู้หญิงในครัว หนุนโห่ร้องไล่อ้ายลาวแตก" และ คำให้การอ้ายพระยานรินทร์แม่ทัพลาวที่ถูกจับ อ้างพระราชดำรัสเจ้าอนุวงศ์ว่า "อ้ายอนุบอกข้าพเจ้าว่าครัวเมืองโคราชซึ่งให้เพี้ยรามพิชัยคุมไพร่ 200 คนไปถึงบ้านสัมริด พวกครัวฆ่านายไพร่ตายเสียหมดแล้ว ให้อ้ายสุทธิสารคุมไพร่ 2,000 คน มีปืน 200 บอกยกไปรบกับครัวโคราช ณ บ้านสำริด อ้ายสุทธิสารแตกหนีมา พวกครัวฆ่านายไพร่ตายเป็นอันมาก" ซึ่งจะเห็นว่าไม่มีการกล่าวถึงวีรกรรมของคุณหญิงโมเลย แม้แต่ในประวัติศาสตร์ประเทศลาวก็ไม่ได้กล่าวถึงเช่นกัน แต่กลับพบอยู่ในพระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ 3 ส่วนเรื่องนางสาวบุญเหลือกลับไม่ปรากฏในหลักฐานใดๆยกเว้นหลักฐานที่ทำขึ้นหลังปี พ.ศ. 2475 เป็นต้นมา
ในเรื่องนี้เคยเป็นประเด็นถกเถียงกันมาแล้วอย่างกว้างขวางในปี พ.ศ. 2536 เมื่อมีการตีพิมพ์หนังสือการเมืองในอนุสาวรีย์ท้าวสุรนารีที่ได้นำเสนอหลักฐานอย่างรอบด้านว่าคุณหญิงโมน่าจะมีตัวตนอยู่จริง พร้อมทั้งตั้งคำถามว่าวีรกรรมของคุณหญิงโมนั้นเกิดขึ้นจริงหรือไม่ ทำให้หนังสือเล่มนี้กลายเป็นหนังสือต้องห้าม อย่างไรก็ตาม หลักฐานทุกชิ้นอย่างชี้ว่าเกิดจลาจลขึ้นจริงและส่งผลให้เจ้าอนุวงศ์ถอยทัพจากโคราช
ดูเพิ่ม
นางสาวบุญเหลือ
วีรกรรมทุ่งสัมฤทธิ์
อ้างอิง
^ ประวัติท้าวสุรนารี
^ 2.0 2.1 2.2 2.3 สำนักงานพาณิชย์จังหวัดนครราชสีมา, ประวัติท่านท้าวสุรนารี
^ ฐานข้อมูลบุคคลสำคัญ " ท้าวสุรนารี ", สำนักวิทยบริการ มหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา
^ วันนี้ในอดีต
^ ประวัติและเหรียญท้าวสุรนารีรุ่นแรก
^ ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศกรมศิลปากร เรื่อง กำหนดจำนวนโบราณสำหรับชาติ, เล่มที่ ๕๔, เล่มที่ ๒๒๘๕
^ จารึกประวัติการสร้างอนุสาวรีย์ท้าวสุรนารี (หลังอนุสาวรีย์ท้าวสุรนารี), เทศบาลนครนครราชสีมา, นครราชสีมา, 2530
^ จากเวียงจันทน์ถึงบางกอกตามรอยเจ้าอนุวงศ์ คลี่ปมประวัติศาสตร์ไทย-ลาว,นิตยสาร สารคดี ฉบับที่ 291 พฤษภาคม 2552,หน้า 138-141
ข้อมูลเพิ่มเติม
สารานุกรมไทยสำหรับเยาวชน
วีรกรรมทุ่งสัมฤทธิ์
ชุมชนพิมาย
ดึงข้อมูลจาก "http://th.wikipedia.org/wiki/%E0%B8%97%E0%B9%89%E0%B8%B2%E0%B8%A7%E0%B8%AA%E0%B8%B8%E0%B8%A3%E0%B8%99%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B8%B5".